➜ ‘ทองหล่อ’ แบบตัวอักษรที่เกิดขึ้นในช่วงรอยต่อระหว่างทศวรรษของ คัดสรร ดีมาก ซึ่งมุ่งประเด็นเริ่มต้นไปที่การเติมเต็มช่วงราวสองทศวรรษที่ขาดหายไปของพัฒนาการที่ควรจะเกิดขึ้นกับแบบตัวอักษรไทยที่มีหัว (Loop Terminal) อันที่จริงแบบร่างของทองหล่อได้เกิดขึ้นมากว่า 4 ปีที่แล้วโดยการทำงานร่วมกับลูกค้ารายหนึ่ง ซึ่งมีความต้องการแบบตัวอักษรไทยประเภทที่มีหัว แต่ให้ความรู้สึกร่วมสมัยและมีรายละเอียดเท่าที่จำเป็น เพื่อสื่อถึงวิธีคิดที่แตกต่างจากความคิดแบบอนุรักษนิยมโดยทั่วไป
โจทย์ดังกล่าวนับว่ามีความน่าสนใจและท้าทายนักออกแบบเป็นอย่างมากในช่วงเวลานั้น เนื่องจากความต้องการของลูกค้าส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับแบบตัวอักษรประเภทที่ไม่มีหัว (Loopless Terminal) นี่จึงเป็นสิ่งจุดประกายให้ อนุทิน วงศ์สรรคกร เริ่มคิดที่จะพัฒนาแบบโดยมอบหมายให้ เอกลักษณ์ เพียรพนาเวช เริ่มร่างต้นแบบของทองหล่อในช่วงปี 2553

แบบร่างนั้นถูกพัฒนาจนกลายมาเป็น ‘ทองหล่อ’ โดยมีแนวคิดบนหลักการที่ว่าโครงสร้างตัวอักษรละตินแบบไม่มีเชิง (Sans Serif) ที่อยู่ในแบบตัวอักษรไทยที่ไม่มีหัวสามารถนำมาใช้กับแบบตัวอักษรไทยที่มีหัวได้ในลักษณะเดียวกับการออกแบบตัวอักษรละตินในชุดเดียวกันที่มีทั้งตัวที่ไม่มีเชิงและตัวที่มีเชิง (Serif) การมองว่าโครงสร้างของตัวอักษรที่ไม่มีหัวกับตัวอักษรที่มีหัวสามารถเป็นโครงสร้างชุดเดียวกันได้ต่างจากวิธีคิดในการออกแบบตัวอักษรที่มีหัวในยุคที่ผ่านมาที่มักจะมองโครงสร้างของตัวมีหัว แยกวิธีคิดเป็นคนละเรื่องกับตัวไม่มีหัว
อย่างไรก็ตาม แบบร่างที่เกิดขึ้นกลับต้องหยุดชะงักกลางคัน เนื่องจากความต้องการของลูกค้าที่ตัดสินใจกลับไปใช้ตัวอักษรประเภทที่ไม่มีหัว เพราะซื้อชุดความเชื่อเดี่ยวของนิยามร่วมสมัยที่ว่าตัวอักษรแบบที่ไม่มีหัวแสดงถึงความก้าวหน้าได้มากกว่า ทำให้ทองหล่อต้องอยู่ในสถานะแบบร่างที่ไม่ได้รับเวลาในการพัฒนานับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เนื่องจากการพัฒนาแบบตัวอักษรเพื่อระบบค้าปลีกหรือที่นิยมเรียกว่ารีเทลนั้น ในความเป็นจริงต้องใช้การลงทุนทางด้านบุคลากรและเวลาที่เทียบเท่า หรือบางครั้งมากกว่าการออกแบบตัวอักษรสำหรับองค์กรเสียด้วยซ้ำ
จนกระทั่งช่วงต้นปี 2556 อนุทินได้ตัดสินใจนำแบบร่างของทองหล่อกลับมาปัดฝุ่นเสียใหม่ ดูเหมือนว่าผงฝุ่นของกาลเวลาเคลือบได้เพียงภายนอกของแบบเท่านั้น เพราะวิธีคิดภายในของตัวแบบยังคงสามารถเติมเต็มช่องว่างทางพัฒนาการของแบบตัวอักษรไทยหัวกลมได้อยู่
‘ทองหล่อ’ การออกแบบที่ปราศจากข้อจำกัดในเรื่องความคุ้นชินที่มีต่อตัวอักษรไทย
โปรเจ็กต์ ‘ทองหล่อ’ ถูกมอบหมายและส่งไม้ต่อให้กับ ชูโร่ง คิม นักออกแบบตัวอักษรสัญชาติเกาหลีที่ผ่านการฝึกงานและเรียนรู้การออกแบบตัวอักษรไทยกับ คัดสรร ดีมาก ถึง 1 ปีเต็ม ด้วยเหตุผลที่ต้องการให้เธอใช้มุมมองและความเข้าใจแบบคนนอกเพื่อนำพาให้เกิดการแก้ไขปัญหาในการออกแบบตัวอักษรไทยด้วยรูปแบบใหม่ๆ ทำให้การออกแบบเป็นไปอย่างปราศจากข้อจำกัดในเรื่องความคุ้นชินที่มีต่อตัวอักษรไทย
ก่อนที่จะผ่านการตรวจแก้แบบจากอนุทินที่ลงรายละเอียดเป็นเวลาเกือบ 1 ปี โดยมี สมิชฌน์ สมันเลาะ เป็นผู้ทดสอบและตรวจทานในสภาพการใช้งานจริง และศุภกิจ เฉลิมลาภ กับการดูแลการผลิตและทดสอบเชิงเทคนิค ในขณะที่ตัวละตินได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมในตอนท้ายจากการวาดเส้นของ คริสเตียน ชวาร์ส ทองหล่อจึงเป็นแบบตัวอักษรชุดที่ใช้บุคลากรและผู้เชี่ยวชาญมากอีกชุดเลยก็ว่าได้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ผลงานชุดนี้ได้รับรางวัลการออกแบบยอดเยี่ยมจากกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ (Design Excellence Award 2013 หรือ DEmark) และรางวัลออกแบบยอดเยี่ยมจากประเทศญี่ปุ่น (Good Design Award 2013) หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่ารางวัล G Mark
โครงสร้างทางกายภาพของทองหล่อได้ถูกออกแบบให้มีเส้นตัวอักษรที่มีความหนาเท่ากันตลอดทั้งเส้น (Monoline) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของตัวอักษรไทยแบบดั้งเดิมตามประวัติศาสตร์ โดยมีข้อเด่นคือการออกแบบสัดส่วนของตัวอักษรให้มีความกว้างขึ้นกว่าแบบตัวอักษรไทยหัวกลมอื่นๆ เป็นพิเศษ เป็นที่น่าสังเกตว่าวิธีคิดในลักษณะนี้ได้ถูกวางไว้ตั้งแต่ฟอนต์ ‘อนุภาพ’ แล้ว สำหรับพื้นความเชื่อเรื่องตัวอักษรในสัดส่วนจัตุรัสที่ทำให้สระและวรรณยุกต์มีเนื้อที่มากขึ้นในการแสดงตัวตน
ที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือทองหล่อถูกวางแผนการออกแบบส่วนหัวของตัวอักษรให้มีขนาดที่ใหญ่ เพื่อความสะดวกในการรองรับน้ำหนักที่หลากหลาย และการไล่ระดับความหนาตามลักษณะนิยมเช่นเดียวกับครอบครัวละติน ซึ่งครอบคลุมทั้งหมด 6 น้ำหนักคือ Hairline, Thin, Light, Regular, Bold, Heavy
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง น้ำหนักที่หนาพิเศษอย่าง Heavy การมีสัดส่วนที่กว้างขึ้นและหัวตัวอักษรที่โตขึ้นกว่าปกติทำให้การขยายน้ำหนักกระทำได้โดยไม่มีปัญหาในเรื่องความไม่สม่ำเสมอของเส้นอักษร (ผิดเจตนากลายเป็นเส้นที่มีความหนาบาง) และเป็นการวางแผนเพื่อหลีกเลี่ยงความตันของหัวตัวอักษร อาจกล่าวได้ว่าทองหล่อเป็นแบบตัวอักษรไทยมีหัวชุดแรกที่สามารถรักษารูปลักษณ์ที่สะท้อนเจตนาของโครงสร้างเอาไว้ได้อย่างครบถ้วนในทุกน้ำหนัก

สิ่งที่เป็นผลตามมาจากการมีน้ำหนักที่หลากหลาย ทำให้ทองหล่อเป็นแบบตัวอักษรไทยหัวกลมที่มีน้ำเสียงหลายโทน และให้สำเนียงเลียนแบบตัวอักษรประเภทที่ไม่มีหัว เช่น ในน้ำหนัก Hairline ของทองหล่อที่มีน้ำเสียงเบาบางแบบเป็นกลาง และให้สำเนียงที่รู้สึกถึงความเป็นแฟชั่น เบา และโฉบเฉี่ยว ซึ่งที่ผ่านมาเป็นน้ำเสียงที่พบในตัวอักษรแบบไม่มีหัว (ในน้ำหนักบาง) มาโดยตลอด และไม่เคยปรากฏในกลุ่มของตัวอักษรหัวกลม
จากลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าทองหล่อเป็นแบบตัวอักษรไทยหัวกลมร่วมสมัยที่ถูกออกแบบมาให้สามารถนำไปใช้งานเป็นทั้งตัวเนื้อความ (Text Font) และตัวพาดหัว (Display Font) ได้ในบริบทเดียวกัน โดยเฉพาะการเป็นตัวพาดหัว ซึ่งที่ผ่านมาเป็นหน้าที่ของตัวอักษรไทยแบบไม่มีหัวมาโดยตลอด เพราะถูกชี้นำทางความคิดว่าดูร่วมสมัยกว่า และเพราะแบบตัวอักษรไทยที่มีหัวมักไม่ค่อยปรากฏแบบที่มีความร่วมสมัยที่สามารถเข้ากับเนื้อหาของปัจจุบันได้
ในส่วนของตัวเนื้อความเองก็มีบางสถานการณ์ที่เกิดความไม่สอดคล้องระหว่างแบบตัวอักษรและเนื้อหาเช่นกัน กล่าวคือแบบตัวอักษรหัวกลมที่มาจากอดีตก็มีน้ำเสียง สำเนียง และภาพที่ติดมาด้วย ทำให้ตัวเนื้อหาของปัจจุบันต้องจำนนต่อการสื่อสารด้วยน้ำเสียงที่ไม่เข้ากันกับใจความ
ทำให้กว้างขึ้น เพื่อให้อ่านได้ช้าลง เพื่อให้อ่านได้เร็วขึ้น
นอกจากนั้นการมีสัดส่วนที่กว้างขึ้นเป็นพิเศษของทองหล่อยังส่งผลให้พื้นที่รอบๆ ตัวอักษร (Spacing) ต้องถูกออกแบบให้มีระยะห่างมากขึ้นตามไปด้วย ลักษณะกายภาพที่ตัวอักษรมีความกว้างและมีพื้นที่โดยรอบที่มากขึ้นของทองหล่อถูกคิดขึ้นบนความต้องการที่จะให้ผู้อ่านอ่านได้ช้าลงเพื่อที่จะอ่านได้เร็วขึ้น
กล่าวคือการที่ทองหล่อเป็นแบบตัวอักษรที่มีสัดส่วนกว้างเป็นพิเศษ ทำให้ตัวอักษรแต่ละตัวสามารถที่จะรักษารายละเอียดของส่วนประกอบต่างๆ ไว้ได้อย่างชัดเจน เมื่อเปรียบเทียบการอ่านระหว่างทองหล่อกับแบบตัวอักษรหัวกลมทั่วไปที่มีสัดส่วนที่แคบกว่าโดยใช้ประโยคที่มีข้อความเดียวกัน พบว่าทองหล่อต้องใช้เวลาที่มากกว่าในการกวาดตาจนครบประโยค
แต่ในช่วงกวาดตานี้เอง ผู้อ่านสามารถประมวลผลถึงความหมายของคำได้เร็วขึ้น เนื่องจากความชัดเจนของแต่ละตัวอักษรต่างกับการกวาดตาในตัวอักษรหัวกลมที่มีสัดส่วนแคบ ซึ่งใช้เวลาน้อยกว่าในการกวาดตาจนครบประโยคก็จริง แต่กลับประมวลผลได้ช้ากว่า เนื่องจากความชัดเจนของตัวอักษรแต่ละตัวมีน้อยกว่า และหากต้องอ่านเป็นระยะเวลานาน สัดส่วนที่แคบก็ทำให้สายตาเกิดความเหนื่อยล้า อาจสรุปสั้นๆ ได้ว่าทองหล่อใช้เวลามากกว่าในการกวาดตามอง แต่ประมวลผลการรับรู้ได้เร็วกว่า จึงเป็นที่มาของประโยคที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาใช้นิยามว่า “ทำให้กว้างขึ้น เพื่อให้อ่านได้ช้าลง เพื่อให้อ่านได้เร็วขึ้น”
การออกแบบที่แอบจัดจ้านในรายละเอียด แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคในการทำความเข้าใจ
การเดินเส้นอักษรของทองหล่อเป็นอีกสิ่งที่มีพัฒนาการที่เด่นชัดจากกลุ่มตัวอักษรไทยแบบมีหัว ทองหล่อมีการเดินเส้นอักษรโดยมีที่มาจากการพิจารณาตัวอักษรแต่ละตัวในลักษณะที่แยกกันเป็นชิ้นส่วน ก่อนที่จะมาประกอบเข้าด้วยกัน (Modular System) วิธีเดินเส้นดังกล่าวเป็นการออกแบบโดยไม่ยึดติดกับลักษณะการเขียนของตัวอักษรไทยที่เป็นการลากเส้นต่อเนื่องจนจบโดยไม่ยกมือในการเขียนตัวอักษรแต่ละตัว และมักจะถูกนำไปใช้เป็นแนวทางในการออกแบบ ซึ่งคาดว่าคือหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้แบบตัวอักษรไทยที่มีหัวมักจะมีลักษณะภายนอกที่คล้ายคลึงกัน
ข้อดีของการมองตัวอักษรในลักษณะแยกเป็นชิ้นส่วน (แบบตัวละติน) คือมันได้เอื้อให้เกิดการพลิกแพลงเพื่อมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการออกแบบโครงสร้างได้มากขึ้น เช่น ในทองหล่อที่มีการเดินเส้นโดยการย่นระยะของเส้นเชื่อมด้านในตัวอักษรเพื่อประหยัดเส้นตัวอักษรให้มากที่สุด โดยที่ยังสามารถรักษาอัตลักษณ์ของตัวอักษรแต่ละตัวเอาไว้ได้
แนวคิดดังกล่าวถูกแสดงออกในรูปแบบของการกำหนดให้เส้นตั้ง (Stem) ทั้งสองเส้นในแต่ละตัวอักษรเป็นเส้นหลักสำหรับรับการเชื่อมจากเส้นนอน หรือเส้นทแยง ตรงบริเวณที่ไม่ใช่ปลายจบของเส้นตั้ง (บริเวณลำตัวของเส้นตั้ง) การเดินเส้นอักษรด้วยวิธีนี้ส่งผลให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกในการอ่านที่ต่างออกไป ทั้งเมื่อมองเฉพาะตัวอักษร (Character) และเมื่ออ่านเรียงเป็นข้อความ (Texture) หากแต่ผู้อ่านก็ไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัดว่าสิ่งที่ทำให้รู้สึกเช่นนั้นคืออะไร เนื่องจากทองหล่อได้สร้างความคุ้นชินให้กับผู้อ่านตั้งแต่ยังไม่ได้กวาดตาอ่านด้วยการแทรกตัวเองเข้าไปอยู่ในนิยามของความเป็นไทย โดยอาศัยความที่เป็นตัวอักษรไทยแบบมีหัวที่ได้ช่วยสร้างมโนทัศน์ในชั้นแรกให้กับผู้ที่ชอบอิงความเชื่อเรื่องแบบตัวอักษรที่มีหัวอ่านง่ายกว่า ซึ่งเป็นอุดมคติเชิงอนุรักษนิยมของตัวอักษรไทย และถึงแม้ทองหล่อจะมีการออกแบบที่แอบจัดจ้านในรายละเอียด แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคในการทำความเข้าใจแต่อย่างใด

ทำไมต้องมีตัวเลขไทยสองชุดในแบบอักษรเดียวกัน
อีกฟีเจอร์พิเศษที่น่าจะกล่าวถึงของทองหล่อคือการมีตัวเลขไทยถึงสองชุดในแบบตัวอักษรเดียวกันให้เลือกใช้ โดยตัวเลขไทยทั้งสองชุดมีความต่างกันในเรื่องของสัดส่วนความสูง ชุดที่ถูกตั้งค่าเป็นมาตรฐานในการเรียกใช้เป็นแบบที่ถูกพัฒนาให้มีความสูงเกือบเทียบเท่าพยัญชนะ ซึ่งแตกต่างกับตัวเลขไทยในแบบตัวอักษรไทยหัวกลมชุดอื่นๆ ที่มีความสูงของเลขไทยที่เตี้ยกว่าพยัญชนะอย่างเห็นได้ชัด
อันที่จริงแล้วปัญหาความสูงของเลขไทยพบทั้งในแบบตัวอักษรที่ไม่มีหัวและแบบที่มีหัว คาดว่ามีสาเหตุมาจากการที่ตัวเลขไทยมักไม่ค่อยได้รับการพัฒนาเมื่อมีการออกแบบตัวอักษรขึ้นมาใหม่ ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่ค่อยเห็นพัฒนาการของเลขไทยทั้งในโครงสร้างและสัดส่วน อย่างไรก็ตาม คัดสรร ดีมาก ได้มองเห็นปัญหาเหล่านี้ และทำการพัฒนาตัวเลขไทยโดยเริ่มจากในชุดแบบตัวอักษรที่ไม่มีหัว จนกระทั่งมาถึงทองหล่อ แนวความคิดนี้ยังได้รับการถ่ายทอดมาปรับใช้เช่นกัน
และตัวเลขไทยอีกชุดของทองหล่อเป็นแบบที่ยังคงรักษาสัดส่วนดั้งเดิมคือเตี้ยกว่าตัวพยัญชนะอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากต้องการให้เป็นทางเลือกเพื่อรองรับสถานการณ์ในการออกแบบที่ต้องการความเป็นทางการแบบดั้งเดิม ต่างจากตัวเลขไทยในชุดแรกที่ออกแบบมาเพื่อรองรับลักษณะการใช้งานที่ร่วมสมัย
ที่มาของ ‘ทองหล่อ’ กับบทบาทในการเชื่อมต่อสองสิ่งเข้าด้วยกัน
แนวคิดเรื่องการร่นระยะของเส้นอักษร นอกจากจะเป็นลูกเล่นให้กับโครงสร้างของทองหล่อแล้ว มันยังถูกถ่ายทอดมาถึงการตั้งชื่อของชุดตัวอักษร โดยผ่านกรอบคิดในเรื่องการร่นระยะทาง (Shortcut) ของ ‘ถนนทองหล่อ’ ซึ่งบางคนอาจจะคาดเดาไปก่อนว่าที่มาของชื่อแบบตัวอักษร ‘ทองหล่อ’ มีสาเหตุมาจากการเป็นสถานที่ตั้งของ คัดสรร ดีมาก แต่นั่นกลับไม่ใช่เหตุผลหลักอย่างแท้จริง
หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่าก่อนที่ซอยทองหล่อจะถูกเปลี่ยนนิยามมาเป็นถนน มันเป็นเพียงซอยตันเล็กๆ ที่มีคูน้ำพาดผ่าน เป็นย่านที่อยู่อาศัยที่เงียบสงบของสุขุมวิทช่วงไกลจากตัวเมือง และเป็นทางลัดสำหรับคนในพื้นที่โดยผ่านทางถนนเอกมัยเมื่อสมัยที่ยังเป็นซอยตัน จนกระทั่งความเจริญได้แผ่ขยายมาตามลำดับเลขซอยที่สูงขึ้นของถนนสุขุมวิท ทองหล่อจึงถูกเปลี่ยนให้เป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญที่ช่วยร่นระยะและเชื่อมต่อถนนเพชรบุรีตัดใหม่เข้ากับกับถนนสุขุมวิท การสร้างสะพานข้ามคลองแสนแสบที่ท้ายซอยทองหล่อบริเวณช่วงสำนักงานเขตวัฒนาทำให้ทองหล่อถูกเรียกเป็นถนนอย่างสมบูรณ์ และลักษณะทางกายภาพของทองหล่อทั้งถนนและแบบตัวอักษรต่างมีบทบาทในการเชื่อมต่อสองสิ่งเข้าด้วยกัน ดังว่า “ถนน…เชื่อมต่อความเจริญ แบบตัวอักษร…เชื่อมต่อยุคสมัย”

จะเห็นได้ว่าการเกิดขึ้นของ ‘ทองหล่อ’ ตั้งอยู่บนความต้องการที่จะมีแบบตัวอักษรเพื่อใช้บันทึกถึงน้ำเสียงของภาษาและการออกแบบของปัจจุบัน และยังสะท้อนให้เห็นถึงการสร้างแนวทางในการออกแบบตัวอักษรไทยตระกูลหัวกลมด้วยการค้นหาวิธีเข้ากระทำแบบใหม่ สิ่งเหล่านี้ทำให้ทองหล่อมีสถานะเป็นแบบตัวอักษรที่เป็นผลผลิตของปัจจุบัน อันที่จริงแล้วแบบตัวอักษรใดก็ตามที่เกิดขึ้นในยุคสมัยนี้ก็ย่อมเป็นผลผลิตของความเป็นปัจจุบันเช่นกัน การพัฒนาแบบตัวอักษรในแต่ละยุคควรที่จะเป็นภาระหน้าที่ของนักออกแบบที่สังกัดอยู่ในห้วงสมัยนั้น ลองคิดดูว่าหากแบบตัวอักษรขาดการพัฒนาไปในยุคใดยุคหนึ่ง ย่อมส่งปัญหาไปถึงนักออกแบบในรุ่นหลังที่ต้องมารับช่วงในการทำให้เกิดพัฒนาการ ทั้งที่มันควรที่จะเกิดขึ้นก่อนหน้า ทำให้ความต่อเนื่องของพัฒนาการแบบตัวอักษรเป็นไปอย่างขาดๆ หายๆ ที่สำคัญคือขาดใจความและน้ำเสียงที่สะท้อนบุคลิกและโลกทัศน์ของช่วงเวลานั้นๆ การมีความรับผิดชอบต่อภาระในการบรรจุใจความและเนื้อหาของยุคสมัยเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไปพร้อมกับกระบวนการการออกแบบอยู่แล้วโดยอัตโนมัติ อีกนัยหนึ่งมันคือการลุกขึ้นมาทำให้ศาสตร์ของความรู้ในแขนงนี้เคลื่อนก้าวไปข้างหน้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นในทุกสมัยเพื่อเติมเต็มความหมายของคำว่า ‘แบบตัวอักษรสะท้อนยุคสมัย’
อ่านต่อ: ‘ทองหล่อ’ วิวัฒนาการที่ขีดเส้นใหม่ให้กับแบบตัวอักษรไทยมีหัว (ตอนที่ 1)
-
FYI:
- Loop Terminal และ Loopless Terminal เป็นศัพท์ที่นิยามขึ้นโดย คัดสรร ดีมาก เพื่อใช้ในการทำงานร่วมกับ Linotype จากเยอรมนี โดย Loop Terminal หมายถึงตัวอักษรไทยประเภทที่มีหัว และ Loopless Terminal หมายถึงตัวอักษรไทยประเภทที่ไม่มีหัว
- การนิยามศัพท์เพื่อใช้ในการจำแนกประเภทและรายละเอียดลักษณะต่างๆ ของแบบตัวอักษรไทยยังมีความต้องการอยู่อีกเป็นจำนวนมาก เช่นใ นกรณีของทองหล่อ ซึ่งมี ‘หัวตัวอักษร’ ที่มีลักษณะกลมและมีขนาดใหญ่กว่าหัวตัวอักษรในแบบตัวอักษรไทยอื่นๆ ก็ควรที่จะต้องนิยามด้วยคำที่อธิบายถึงลักษณะได้อย่างชัดเจนขึ้น และแนวคิดนี้กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการในปัจจุบัน
This website uses cookies to ensure you get the best experience on our websiteLearn more